สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

จงใจทิ้งร้างเกินกว่า ๑ ปี เป็นเหตุฟ้องหย่าได้

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) บัญญัติว่า เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้ สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

 

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2556 โจทก์มีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ไขมันในเลือดสูง ไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เดือนธันวาคม 2556 จำเลยที่ 1 เริ่มทยอยขนของออกจากบ้าน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขนของออกจากบ้านไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 แล้วไม่กลับมาเลยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2557 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากบ้านและถูกข่มขู่จะทำร้ายดังที่กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2558) เกินกว่า 1 ปี จึงเป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)

 

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7534/2560

 

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน และให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์คิดเป็นเงิน 1,139,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินทดแทนจากการเป็นชู้แก่โจทก์จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และให้แบ่งทรัพย์สินคือ ที่ดินมือเปล่า (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจ 32/45 จำนวน 1 แปลง รถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 1305 สระบุรี 1 คัน รถยนต์บรรทุกสี่ล้อ หมายเลขทะเบียน 80 - 5249 ลพบุรี 1 คัน รถไถเล็ก ยี่ห้อฮิโนโมโต 23 แรง พร้อมเครื่องพ่นยาและปุ๋ย 1 คัน รถไถเล็ก ยี่ห้อฮิโนโมโต 25 แรง ขับเคลื่อนสี่ล้อ 1 คัน เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์พืช 1 เครื่อง เครื่องพ่นปุ๋ย 1 เครื่อง รถไถ ยี่ห้อคูโบต้า 24 แรง 2 เพลา พร้อมตัวพ่วง 1 เครื่อง รถไถ ยี่ห้อคูโบต้า 12 แรง 1 เพลา 1 คัน เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 1 เครื่อง เครื่องสีข้าวโพด 1 เครื่อง ส่วนพ่วงหรือเทรลเลอร์ 1 คัน เครื่องโม่ใช้ผสมยา ปุ๋ย เมล็ดข้าวโพด 1 เครื่อง ผานรถไถ 1 อัน อาวุธปืนพก ขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ ขคน ลพบุรี 311 จำนวน 1 คัน ให้แก่โจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง กับให้แบ่งทองคำหนัก 5 บาท ให้แก่โจทก์กับจำเลยทั้งสองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนละ 1 ส่วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าทนายความส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับทองคำหนัก 5 บาท (ตามคำฟ้องข้อ 3.19) เสียด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองตามทุนทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2522 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาวหฤทัย ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยที่ 2 เคยมีสามี แต่สามีได้ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2548 ต่อมาปี 2551 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยโจทก์รู้เห็นและยินยอม จึงไม่มีเหตุหย่าตามฟ้องส่วนนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอแบ่งรถแบ็กโฮ ตามข้อ 3.13 และค่าทดแทนกับคำขอให้ชำระหนี้กองทุนกู้ยืมประจำหมู่บ้าน ตามข้อ 3.18 คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคำขอแบ่งทองคำหนัก 5 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้ยกคำขอในส่วนนี้ด้วย คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุหย่าเพราะจำเลยที่ 1 จงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปีหรือไม่ โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2556 โจทก์มีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ไขมันในเลือดสูง ไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เดือนธันวาคม 2556 จำเลยที่ 1 เริ่มทยอยขนของออกจากบ้าน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขนของออกจากบ้านไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 แล้วไม่กลับมาเลยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2557 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากบ้านและถูกข่มขู่จะทำร้ายดังที่กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2558) เกินกว่า 1 ปี จึงเป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ที่ศาลล่างพิพากษาด้วยเหตุหย่าตามปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นฎีกาในปัญหานี้ด้วย แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ได้กระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันเพราะเหตุจงใจทิ้งร้างไปเกิน 1 ปี เช่นนี้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้

 

 

 

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.1 ถึง 3.4 ข้อ 3.6 ถึง 3.12 และข้อ 3.14 ถึง 3.17 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 หรือเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำมาหาได้ร่วมกัน เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อจำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่า ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.1 ถึง 3.4 ข้อ 3.6 ถึง 3.12 และข้อ 3.14 ถึง 3.17 เป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงยอมรับว่า รถไถยี่ห้อคูโบต้าเป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 ส่วนทรัพย์สินอื่นจำเลยทั้งสองเบิกความลอยๆ ว่าเกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์และจำเลยทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ด้วยกันหลายรายการโดยไม่มีพยานสนับสนุน ส่วนที่ดินมือเปล่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็เบิกความขัดกันในเรื่องจำนวนเงินว่าออกฝ่ายละเท่าใด เป็นเงินของจำเลยที่ 2 หรือของสามีจำเลยที่ 2 วันที่ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายก็เป็นวันเวลาที่สามีของจำเลยที่ 2 ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่วันเวลาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองอยู่ร่วมกัน นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 1305 สระบุรี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ ศาลฎีกาตรวจดูเอกสารดังกล่าวปรากฏว่า ผู้ทำสัญญาเช่าซื้อคือโจทก์หาใช่จำเลยที่ 1 ไม่ ยิ่งกว่านี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ด้วยว่ารถไถยี่ห้อฮิโนโมโต 23 แรงพร้อมเครื่องพ่นยาและปุ๋ยได้มาระหว่างอยู่กินกันกับโจทก์ อาวุธปืนพกขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก (ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.16) เป็นของจำเลยที่ 1 ได้มาก่อนปี 2550 แสดงว่า ทรัพย์สินทั้งสองดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินด้วยกัน ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมาอยู่กินด้วยกันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่า ทรัพย์สินตามฟ้องเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำมาหาได้ร่วมกันขณะอยู่กินเป็นสามีภริยารวมกันสามคน เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยทั้งสองนำสืบรับฟังไม่ได้ จำเลยทั้งสองก็ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้คดีในปัญหาประการที่สองนี้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า ทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่งเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาในปัญหาประการที่สองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามว่า ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.5 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และมีอยู่จริงหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่าทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.5 คือ รถไถเล็ก ยี่ห้อฮิโนโมโต 25 แรง ขับเคลื่อนสี่ล้อ ได้มาก่อนปี 2550 โดยมีภาพถ่ายมาแสดง คำเบิกความของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยทั้งสองให้การแก้ฟ้องว่า ไม่มีทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.5 แต่จำเลยที่ 1 กลับเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า ทรัพย์ตามฟ้องข้อ 3.5 ได้มาหลังปี 2550 หลังจากที่จำเลยที่ 2 มาอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 แล้ว จึงขัดกับคำให้การจำเลยทั้งสองให้การแก้ฟ้องที่ยื่นต่อศาล ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เบิกความถึงทรัพย์สินส่วนนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทรัพย์สินตามฟ้องข้อ 3.5 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และมีอยู่จริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาในปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่